การจัดประเภทของสปาไทย สปาตะวันตกและสปาไทยพื้นบ้าน
ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประเภทของ "สปาไทย-สปาตะวันตก" ตามลักษณะของธุรกิจสปา โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ คือ
 
1. "สปาแบบตะวันตก" เป็นการให้บริการ "สปา" ในรูปแบบที่เน้นต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย มีราคาสูงจากต่างประเทศ ผู้ให้บริการด้านสปาต้องเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ทั้งยังต้องสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับสปา แก่ผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี เครื่องมือที่ใช้ เช่น ออกซิเจน โซลาร์ สปา เครื่องอบเซาวน่า เครื่องอินฟราเรด เซาวน่า เป็นต้น

2. "สปาแบบไทยประยุกต์" เป็นการให้บริการ "สปา" ที่ผสมผสานระหว่างสปาตะวันตกและสปาแบบตะวันออกเข้าด้วยกัน โดยนำเครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการให้บริการสปา ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นพื้นบ้านของไทย สปาในรูปแบบนี้เรียกกันว่า "สปาไทย"

3. "สปาแบบไทยแท้ หรือ สปาไทยพื้นบ้าน" คือ "สปา" ที่เกิดจากการฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมของคนไทยในด้านการดูแลสุขภาพแบบโบราณ นำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบสปา โดยยังดำรงรักษาแบบพื้นบ้าน เช่น การอาบสมุนไพร การอบสมุนไพร การนวดสมุนไพรไทย การแช่น้ำสมุนไพร การนวดประคบ ขัดผิว การอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ตามวิถึธรรมชาติของบรรพบุรุษชาติไทย ที่มีความเรียบง่ายและมีกลิ่นไอพื้นบ้านของไทย ผู้ให้บริการในสปาไทยพื้นบ้าน มักมีความสามารถในเชิงบำบัดเทียบได้ใกล้เคียงกับหมอพื้นบ้านในอดีต โดยเน้นการผ่อนคลายและการบำบัดโรคบางชนิด สถานที่ของสปาไทยพื้นบ้านจะมีการตกแต่งโดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยอาจจะจัดสถานที่บริการให้มีบรรยากาศเหมือนอยู่ในบ้านหรือสวน และนำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไทยมาประยุกต์ให้เข้ากับบรรยากาศของสปา
|