หมวดหมู่
หน้าหลัก       ยินดีต้อนรับสู่คลังความรู้ธุรกิจมุสลิมไทยโพสต์
หน้าแรก  | ข่าววันนี้  | ประเด็นดัง  | เรียนรู้อิสลาม  | ฮาลาล  | 
ชื่ออาหรับ  | เวลาละหมาด  | คลิบวิดีโอ  | ความรู้
 
ค้นหา
หากมีคำค้นหลายตัว สามารถคั่นด้วย comma (,)
หน้าหลัก >> ธุรกิจสปา >> มหัศจรรย์สมุนไพรกลิ่นหอมธรรมชาติ
พิมพ์หน้านี้  |  ส่งให้เพื่อน
กฤษณา ไม้เศรษฐกิจและน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย

กฤษณา ไม้เศรษฐกิจและน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทยกฤษณา ไม้เศรษฐกิจและน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย

"กฤษณา" 
พืชน้ำมันหอมระเหยที่มีศักยภาพของไทย

"กฤษณา"  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21 เมตร ขึ้นไป วัดได้โดยรอบลำต้นยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร  เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำ ๆ หรือรูปกรวย ลำต้นเปลาะตรง เมื่อมีอายุมากเปลือกนอกเรียบ  สีเทาอมขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป  เปลือกนอกจะปริเป็นร่องเล็ก ๆ เมื่อมีอายุมาก ๆ ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลือง

ใบ เป็นชนิดเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียงสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง  2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมันแต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม

ดอกสีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็ก ๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกิดที่ง่ามกิ่ง

ใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือ Teminal Umables ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณา จะมีทั้งเนื้อไม้ปกติและเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวในมหาชาติคำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว (เสดครู) และกฤษณาดำ ซึ่งมีเนื้อไม้หอม

เนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดชัดเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำ จะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปสำเร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว โดยปกติแล้วระหว่างผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะทำให้สีไม้เสีย

ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณาจะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียวอยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมคือ Sesquiterpene Alcohol มีหลายชนิดอาทิ a-Agarofuran, Agarospirol และ Agarol

คุณภาพของกฤษณาในประเทศไทย
ได้แบ่งเป็น 4 เกรด ดังนี้

  • เกรด 1  ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ลูกแก่น มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้มีสีดำ มีราคาแพงมาก ประมาณ 30,000-60,000 บาท/กิโลกรัม
  • เกรด 2  มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 1 สีจะจางออกทางน้ำตาล มีราประมาณ 8,000-10,000  บาท/กิโลกรัม
  • เกรด 3  มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 2 มีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาท/กิโลกรัม
  • เกรด 4  มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย มีราคาประมาณ 200-600 บาท/กิโลกรัม

การขยายพันธุ์
ไม้กฤษณาเป็นไม้หวงห้ามประเภท ข. ไม่อนุญาตให้ตัดฟัน ทำให้มีการลักลอบตัดฟัน เพื่อนำแก่นไม้หอมมาจำหน่ายกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุที่ไม้กฤษณาเป็นไม้ที่หายากและตลาดโลกมีความต้องการสูง ในตลาดซื้อขายกันเป็นกิโลกรัม  ราคากิโลกรัมละ 20 บาท ถึง 60,000 บาท ฉะนั้นจึงทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บหาของป่าเสี่ยงต่อกฎหมายลักลอบเข้าไปตัดไม้เขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นผลให้ไม้กฤษณาในประเทศไทยใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่าไม้กฤษณาเป็นไม้ที่ควรอนุรักษ์พร้อมขยายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยการปลูกสร้างสวนป่า ภาคเอกชน ในพื้นที่ทางราชการกำหนดโดยรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนในการปลูกและบำรุงรักษา

สำหรับการขยายพันธุ์กฤษณาที่นิยมทำกันมากคือ การขุดกล้าไม้ ซึ่งเป็นเมล็ดที่ตกมาจากต้นหล่นลงมาบนพื้นดิน จนงอกเป็นกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้อายุราวหนึ่งปีจะมีความแข็งแรงและเจริญเติบโตพอที่จะย้ายไปปลูกในแปลงได้

ถ้าปล่อยให้กล้าเจริญเติบโตอยู่ในแปลงเพาะนานเกินไป จะทำให้รากเกาะยึดติดดิน เมื่อถอนรากก็จะขาด เมื่อย้ายมาชำในถุงก็จะตั้งตัวช้า ในกรณีที่จำเป็นให้ใช้สารละลายดินดาน เช่น เอกริ-เอสซี, ฟูร่วนหรือซอยลีน ละลายน้ำแล้วรดที่แปลงเพาะกล้าจนเปียกชุ่มชื้น ดินจะคลายความแน่นลงทำให้ถอนต้นกล้าออกได้โดยรากขาดเพียงเล็กน้อยหรือไม่ขาดเลย

เมื่อย้ายมาชำในถุงแล้ว ควรจะวางไว้ในที่ร่มเงา เช่น บริเวณใต้ต้นไม้ หรือทำหลังคาพรางแสงด้วยสแลน ฟาง ทางมะพร้าวหรือใบไม้อย่างอื่น จนกระทั่งกล้าตั้งหลักในถุงได้ดีจึงย้ายที่ปลูก

เนื่องจากต้นกฤษณาตอบสนองต่อปัจจัยต่าง ๆ ได้ดีมาก เมื่อเติบโตขึ้น ต้นในถุงเดิมก็จะไม่พอต่อการเจริญเติบโตของราก เมื่อต้นกฤษณาในถุงเจริญไประยะหนึ่งและเริ่มเจริญช้าลงแสดงว่าถุงเล็กไปแล้ว ควรจะเปลี่ยนถุงและดิน เพราะกฤษณาจะเติบโตและใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาก็เพิ่มขึ้นได้อีกมาก สำหรับต้นที่ใหญ่ขึ้นมากแล้วควรย้ายไปปลูกในเข่งใหญ่ ๆ จะวางเข่งอยู่บนพื้นซีเมนต์หรือใช้ผ้าพลาสติกปูหลาย ๆ ชั้นก่อนวางเข่งก็ได้ เพื่อป้องกันรากลงไปยึดติดดินจะทำให้แฉะเวลาขนย้ายต้นไม้

การปลูก
เมื่อเตรียมกล้าไม้ได้ตามต้องการ ขั้นตอนต่อมาก็คือการเตรียมนำกล้าไปลงหลุมที่ขุดไว้เรียบร้อยแล้ว ควรขุดหลุมกว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร ความลึกเท่ากัน หลังจากนั้นก็เอาดินชั้นบนออกมากองไว้ข้าง ๆ ที่หนึ่ง เสร็จแล้วค่อยเอาดินชั้นล่างที่ขุดชึ้นมากองไว้ข้าง ๆ อีกทีหนึ่ง ตากดินทิ้งไว้ให้แห้งสัก 1-2 วัน

จากนั้นจึงเอาดินชั้นบนมาคลุกเคล้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ปี๊บ หินฟอสเฟต 1 ช้อนโต๊ะ เพื่อแก้กรดในดินและช่วยการเจริญเติบโตของราก ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นไม้เติบโตแข็งแรงดี พร้อมกับใส่โดโลไมท์ประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ เพื่อปรับสภาพดินเสื่อมและช่วยทำให้ดินร่วนซุยมากขึ้น

เมื่อคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วจึงเอาใส่ลงก้นหลุมประมาณครึ่งหลุม จากนั้นจึงนำกล้าไม้กฤษณาปลูกลงตรงกลางหลุม พร้อม ๆ กับเอาดินชั้นล่างผสมมูลสัตว์  ใบไม้  ใบหญ้า  เทถมใกล้ ๆ กล้าไม้  ควรถมให้สูงเกินกว่าระดับปากหลุมประมาณ 3-4  นิ้ว เผื่อไว้สำหรับดินยุบลงภายหลังเวลารดน้ำ จากนั้นอย่าลืมหาไม้เล็ก ๆ มาปักข้าง ๆ กล้าไม้แล้วเอาเชือกฟางมาผูกกล้าไม้ติดกลับหลักไม้เล็ก ๆ ที่ปักอยู่ ควรผูกช่วงกลางลำต้นเกือบถึงยอด ป้องกันลมพัดโยก เพราะจะทำให้รากไม้กระเทือน เจริญเติบโตช้า หลังจากนั้นก็หากาบมะพร้าว หญ้าแห้ง ใบไม้ ฟางข้าว หรือลำต้นกล้วยคลุมโคนต้นกล้าและรดน้ำให้ดินชุ่ม

เวลาที่เหมาะสมจะอยู่ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนหรือช่วงก่อนฤดูฝน ถ้าจะปลูกช่วงเวลาอื่นจะต้องคำนึงเรื่องน้ำด้วยว่ามีเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่

ระยะการปลูก
การกำหนดระยะเวลาการปลูกของต้นกฤษณามีความแตกต่างกันไปหลายระยะตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูก แต่ระยะการปลูกที่นิยมกันทั่วไปของป่าราชการมักจะเป็นระยะห่าง 8x8 เมตร จะปลูกได้ประมาณ 25 ต้นต่อ 1 ไร่ เท่านั้น

ขณะที่สวนป่าเอกชนจะนิยมปลูกกันในระยะห่าง 4 x 4 เมตร ระยะปลูกขนาดนี้จะใช้กล้าไม้ประมาณ 100 ต้น ถ้าจะมีการวางหัวน้ำหยดก็จะประหยัดสายยางและหัวน้ำหยด หรือจะใช้ไมโครสปริงเกอร์ก็ได้

การปลูกระยะห่าง 4 x 4 เมตรนี้ ขณะที่ต้นยังไม่โตอาจจะมีปัญหาเรื่องหญ้าขึ้นมาก เพราะมีที่ระหว่างต้นกล้าทำให้หญ้าเข้าไปทำงาน ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องปลูกห่างขนาดนี้ เพราะการปลูกกฤษณาไม่ได้เน้นที่จะให้ได้รับแสงแดดมากเพื่อการสะสมอาหารสำหรับการออกดอก เนื่องจากเราต้องการลำต้นเป็นหลัก

การปฏิบัติดูแลเบื้องต้น
ในระยะแรกผู้ปลูกควรปฏิบัติดูแลรักษาต้นกฤษณาดังนี้

  1. การให้น้ำ ในระยะแรก 2-3 เดือนแรกปลูกควรมีการรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอประมาณ 3 - 5 วันต่อครั้ง พออายุโตขึ้น 3-6 เดือน ค่อยลดเวลาให้น้ำลงเป็น  5-7 วันต่อครั้ง เว้นช่วงฝนตกควรงดการให้น้ำ ต้นกฤษณาที่มีอายุหนึ่งปีขึ้นไปควรรดน้ำ 7-15 วันต่อครั้ง ในช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้น้ำก็ได้เพราะปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว
  2. การใส่ปุ๋ย ไม่จำเป็นที่จะต้องใส่มาก เพราะจะทำให้ไปเร่งลำต้น กิ่งใบมากเกินไป ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ อาจจะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเป็นครั้งคราว ในช่วงปีแรก ๆ ต้องเอาใส่ใจอนุบาลบ้างด้วยการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกปีละ 1-2 ครั้ง
  3. การกำจัดวัชพืช ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาแปลงปลูกให้ปราศจากวัชพืชได้ ก็ต้องคอยดูแลอย่าให้วัชพืชขึ้นคลุมยอดต้นกฤษณาได้ ถ้ามีวัชพืชขึ้นคลุมยอดต้นกฤษณาต้องทำการถอนหญ้าที่ขึ้นรกออกมาเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในแปลงที่เป็นตอน ควรทำการเก็บวัชพืชอย่างน้อยปีละครั้งประมาณต้นฤดูหนาวหลังฝนหมดแล้ว
  4. การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง การฉีกพ่นยาฆ่าแมลงสำหรับต้นกฤษณานี้ไม่มีความจำเป็นต้องทำ เพราะตามธรรมชาติต้นกฤษณาชอบให้มีแมลงมากัดเจาะลำต้นอยู่แล้ว เมื่อมีแมลงมากัดเจาะลำต้นก็จะทำให้ลำต้นมีรูเป็นโพรง  ลำต้นอาจจะฉีกขาด ฟกช้ำ ทำให้เกิดอาการเครียด กระบวนการรักษาแผลของลำต้นกฤษณาก็จะค่อย ๆ สะสมสารกฤษณาให้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งทำให้ต้นกฤษณามีคุณค่ามากตามไปด้วย

ขนาดและอายุของต้นที่ทำให้เกิดสารกฤษณา
การทำให้เกิดบาดแผลเพื่อสร้างสารกฤษณานั้น ควรคำนึงถึงขนาดของกิ่ง ก้าน หรือลำต้น มากกว่าอายุ เพราะอายุจะเท่าใดก็ตามแต่ถ้าทิ้งก้านหรือลำต้นมีขนาดเล็กมากก็จะไม่สะดวกที่จะทำให้เกิดบาดแผล เพราะการทำให้เกิดบาดแผลต้องทำโดยปราณีต กินเวลาและสิ้นเปลืองแรงงานมากกว่าที่จะทำให้เกิดบาดแผลกับต้นกฤษณาที่ขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี เคยมีการทดลองทำให้เกิดบาดแผลที่ต้นกฤษณาอายุ 2 ปี พบว่าเมื่อเจาะลำต้นให้เกิดบาดแผล ก็สามารถสร้างสารกฤษณาในเนื้อไม้รอบ ๆ แผลได้ แต่ควรทำเมื่อต้นกฤษณามีอายุ 4-5 ปีขึ้นไป เพราะจะทำให้เกิดสารกฤษณาได้สะดวกและได้ผลดีกว่า

เมื่อต้นกฤษณาถูกทำให้เกิดมีสารกฤษณาขึ้นแล้ว จะมีอาการโทรมอย่างเห็นได้ชัดของส่วนบนเหนือรอยแผลขึ้นไป ซึ่งเป็นลักษณะของท่อน้ำและท่ออาหารที่ถูกขัดขวางการเคลื่อนตัวของน้ำและอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นส่วนบน สังเกตให้ดีจะเห็นเปลือกไม้บวม มีแผล ผิวของลำต้นจะผิดไปจากเดิม มีมดมาดมกลิ่นหอมที่ซึมออกมา ต้นกฤษณาก็จะสร้างกิ่งเป็นจำนวนมากใต้รอยแผล แล้วเจริญเติบโตขึ้นไปทดแทนส่วนบนเหนือรอยบาดแผลนั้น

วิธีทำให้เกิดบาดแผลและเจาะกระตุ้นสร้างสารกฤษณา ลำต้นกฤษณาที่พร้อมจะทำให้เกิดบาดแผล และเจาะกระตุ้นสร้างสารกฤษณาควรมีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป ทั้งลำต้นและกิ่งควรมีความสมบูรณ์

ก่อนจะทำให้เกิดบาดแผล ควรเริ่มจากโคนต้นขึ้นมาสูงประมาณ 12 นิ้ว กว้าง 7 นิ้ว ขีดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้สิ่วถากเปลือกออกจะเห็นเนื้อไม้สีขาวนวลและมียางไม้ออกนิดหน่อยตามขนาดรูปสี่เหลี่ยมที่กำหนดขึ้น  จากนั้นนำสว่านเจาะรูประมาณ 6 รู ในจุดห่างกันพอดี ๆ โดยเจาะลึกประมาณ 3 นิ้ว ไม่ควรเจาะจนทะลุต้น แล้วนำสิ่วปากกว้างสกัดแต่งแผลให้ได้ขนาดร่องสิ่วลึกประมาณ 1 นิ้ว ขนาดเท่ากันทุกร่อง ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จะมีมดดำหรือตัวแมลงเข้ามาอยู่ในรูเป็นระยะ

เมื่อทำให้เกิดบาดแผลและเจาะกระตุ้นสารได้แผลหนึ่งแล้ว สามารถทำให้เกิดบาดแผลเพิ่มขึ้นได้อีกสัก 3-4 แผล รอบ ๆ  ลำต้น แต่ละแผลควรเว้นช่องห่างกันประมาณ 5 นิ้ว

เมื่อเกิดบาดแผล เกิดความช้ำหรือเกิดความเครียดขึ้นที่เนื้อไม้ด้วยการเจาะนี้ จะเกิดการหลั่งสารจำพวก ชัน หรือเรซิน เข้ามาสะสมที่เนื้อไม้รอบ ๆ บาดแผลที่เจาะนั้น สีของเนื้อไม้ก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีขาวมาเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม สีดำ และสีดำพร้อมมีน้ำมันเยิ้มในที่สุด การจะมากขึ้นตามลำดับตามเวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน อันเป็นกระบวนการรักษาบาดแผลตามธรรมชาติของต้นกฤษณา พอเวลาผ่านไปสัก 3 เดือน - 1 ปี เนื้อไม้กฤษณาที่ถูกทำให้เกิดบาดแผลและสร้างสารกฤษณาขึ้นมาได้ก็จะอยู่ในระดับที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ปากขวาน

หลังจากทำให้เกิดบาดแผลและกระตุ้นสร้างสารกฤษณาด้วยการเจาะแล้วประมาณ 1-3 เดือน จะเห็นความแตกต่างของเนื้อไม้ เนื้อไม้จะเริ่มมีสายน้ำมันเดินช้า ๆ ยิ่งเวลานานออกไปก็ยิ่งมีน้ำมันเพิ่มขึ้น

พอผ่านไป 3-5 เดือน ก็ถึงขั้นตอนที่จะสกัดเอาเนื้อไม้ออกมาใช้ประโยชน์ได้ ด้วยการนำสิ่วค่อย ๆ บากหรือถากเอาเนื้อไม้ออกมา ถ้าลองจุดไฟเผาดมดู จะได้กลิ่นของสารกฤษณาจากเนือไม้  เมื่อได้เนื้อไม้แล้วให้นำไปตากแดด สัก  1-2 แดด จากนั้นจึงนำไปบดให้ละเอียดแล้วนำไปแช่หมักไว้ สักระยะเวลาหนึ่ง จึงนำไปต้มกลั่นกับน้ำแล้วแยกเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาขายได้ราคาที่ดีต่อไป แต่การจะขายได้ราคาหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อไม้ว่ามีคุณภาพเพียงใดด้วย

การกลั่นน้ำมันหอมกฤษณา
การต้มกลั่นไม้กฤษณา เพื่อเอาน้ำมันหอมมาใช้ประโยชน์ถือเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะน้ำมันหอมที่กลั่นออกมาได้คุณภาพดีก็จะขายได้ราคาดีอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว โดยเฉพาะการทำน้ำมันหอมส่งออกไปขายที่ต่างประเทศจะได้ราคาดีมากกว่าขายในเมืองไทย

การกลั่นน้ำมันหอมในขณะนี้อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 2 แบบ ด้วยกันคือ การกลั่นแบบโบราณและการกลั่นแบบทันสมัย

1. การกลั่นแบบโบราณ  เรียกว่า "การต้มกลั่น"  เพราะจะเอาไม้กฤษณามาต้มนานหลายวัน วิธีการต้มกลั่นแบบโบราณจะไม่คำนึงถึงสายพันธุ์ มักจะอาศัยความชำนาญเลือกเนื้อไม้กฤษณาที่หาได้จากในป่ามารวมกัน แล้วนำไปใส่ครกตำจนละเอียด หลังจากนั้นจะนำไม้กฤษณาที่ป่นแล้วหมักไว้ 15-30 วัน จากนั้นก็นำเข้าหม้อต้มกลั่นผสมน้ำทั่ว ๆ ไป ที่ชาวบ้านมักใช้ต้มกลั่นสารบางประเภท เช่น การต้มเหล้าเถื่อน

การต้มกลั่นนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 วันต่อ 1 หม้อ จะต้มกี่หม้อก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณไม้กฤษณาที่จะหาได้ จาการต้มกลั่นนี้เอง น้ำมันจากเนื้อไม้จะออกมาลอยบนผิวน้ำ เมื่อเห็นน้ำมันลอยอยู่บนผิวน้ำก็ใช้ช้อนตักใส่ขวดได้

การต้มกลั่นแบบนี้มักได้น้ำหอมที่มีคุณภาพต่ำ กลิ่นน้ำมันไม่ดีมากนัก เพราะยังมีน้ำผสมอยู่ในเนื้อม้ำมัน นำไปขายได้ราคาไม่สูงนัก เพราะยังไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้านัก แต่ก็พอขายได้ เพราะจะมีพ่อค้าบางรายซื้อนำไปใช้ประโยชน์บางอย่างที่อาจไม่ต้องการน้ำมันคุณภาพดีนัก

2. การกลั่นแบบทันสมัย  กรรมวิธีการต้มกลั่นแบบทันสมัย ต้องเริ่มต้นจาการคัดสายพันธุ์ไม้กฤษณา จำแนกป่าแต่ละโซน ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่มีการส่งเสริมการปลูกก็จะง่ายต่อการคัดเลือกไม้กฤษณาต้มกลั่น เพราะเราจะรู้ว่าไม้ที่จะนำมาต้มกลั่นสายพันธุ์อะไร แต่ถ้านำไม้มาจากป่ามาต้มกลั่นอาจจะจำแนกสายพันธุ์ไม่ค่อยได้ ต้องต้มกลั่นรวมกันไปทำให้ได้น้ำมันหอมคุณภาพไม่ดีนัก ไม้กฤษณาสายพันธุ์ดีคือ สายพันธุ์เขมร

สำหรับขั้นตอนการกลั่นแบบทันสมัย ให้นำเนื้อไม้มาคัดแยกเกรดให้ชัดเจน แยกเกรดเดียวกันไว้ต้มกลั่นด้วยกัน จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งสัก 2-3 แดดหรืออาจจะนำไปอบก็ได้ ถ้าใช้วิธีอบความชื้นจะหายไป 20-30 เปอร์เซนต์ ก่อนจะตากแดดหรืออบให้ชั่งน้ำหนักก่อน เมื่อตากแดดหรืออบแล้วก็ชั่งน้ำหนักอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าน้ำหนักต่างกัน จากนั้นก็นำมาเข้าเครื่องบด บดให้ละเอียดพอบดเป็นผงแล้วให้ชั่งน้ำหนักอีกครั้งจะเห็นได้ว่าน้ำหนักไม้จะหายไปส่วนหนึ่ง เช่น ไม้กฤษณา 15 กิโลกรัม เมื่อนำไปตากแดดประมาณ 2 แดด น้ำหนักจะหายไป 3 กิโลกรัม และหากน้ำไม้กฤษณาที่เหลือ 12 กิโลกรัมนั้นมาบดอีกครั้งก็จะหายไป 1 กิโลกรัม สุดท้ายจะเหลือเนื้อไม้จริง ๆ ประมาณ 11 กิโลกรัม

เมื่อได้ไม้กฤษณาที่บดตามความต้องการเรียบร้อยแล้ว ให้นำไปหมักในน้ำสะอาดใช้เวลาประมาณ 2 วัน จากนั้นจึงนำไม้เข้าเครื่องต้มกลั่นแบบทันสมัย จะใช้เวลาต้มกลั่นเพียง 5 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำมันหอมคุณภาพดีตามค้องการ อย่างไรก็ตามน้ำมันหอมจะคุณภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และคุณภาพไม้ที่นำมาต้มกลั่นด้วย

ไม้กฤษณา 15 กิโลกรัม เมื่อนำมาต้มกลั่นแล้วจะได้น้ำมัน 2 โตร่า จะมีน้ำหนักประมาณ 12 กรัม (โตร่าเป็นชื่อเรียกหน่วยวัดที่นิยมใช้ในการซื้อขายน้ำมันหอมกฤษณา) 1 โตร่า เท่ากับ 12.5 ซีซี  น้ำหอม 1 โตร่าขายในประเทศได้ 3,500-4,000 บาท แต่ถ้านำออกไปขายต่างประเทศจะขายได้ราคา 3 เท่าของราคาในประเทศ

ผู้สนใจปลูกไม้กฤษณา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้มี่ ชมรมสมาชิกผู้ปลูกไม้กฤษณา (ภาคเหนือ) 053-274845

หลักเกณฑ์การขอรับการส่งเสริมปลูกไม้กฤษณา
(ตามระเบียบของทางราชการที่วางไว้และให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ป่าไม้)

1. ประเภทที่ดินที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกสวนป่าไม้เศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้

  1. ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน  หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือทีดินที่มีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบจอง (น.ส. 2, น.ส. 2 ก) ที่มีหนังสือรับรองทางราชการว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในระหว่างการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
  2. ที่ดินที่ได้รับพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินที่มีหลักฐานหนังสือรับรองที่ (ส.ห.ก.4.28 ก)  หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01.) หรือหลักฐานการเช่าหรือการเช่าชื้อที่ดินจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม หรือหนังสือรับรองของทางราชการว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร
  3. ที่ดินเขตนิคมสหกรณ์ที่มีหลักฐานหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ก.ส.น.3) หรือหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (ก.ส.น.5) หรือที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเองที่มีหลักฐานหนังสืออนุญาตในที่ดิน (น.ค. 1) หรือหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค.3)
  4. ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ดินในเขตป่าสงวนตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้มีส่วนราชการหรือองค์การของรัฐได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ เพื่อจัดสรรให้ราษฎรอยู่อาศัยหรือทำกิน โดยมีหนังสืออนุญาตของทางราชการของรัฐนั้นให้ในการปลูกสวนป่า
  5. ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีหลักฐานหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย หรือปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (สทก.) หรือหนังสือรับรองจากกรมป่าไม้ว่าที่ดินดังกล่าว เป็นที่ดินซึ่งกรมป่าไม้จัดที่ทำกินให้ราษฎร ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
  6. ที่ดินราชพัสดุ หรือที่หน่วยราชการหรือองค์กรของรัฐบาลให้ราษฎรอยู่อาศัยหรือทำกิน โดยมีหนังสือรับรองของหน่วยงานราชการหรือองค์กรของรัฐดังกล่าวให้ใช้ในการปลูกสร้างสวนป่าได้
  7. ที่ดินที่มีสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยหนังสืออนุญาตจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ใช้การปลุกสร้างสวนป่าได้

2. คุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้

  1. เป็นเจ้าของที่ดิน หรือมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย
  2. เป็นผู้เช่าชื้อหรือผู้เช่าที่ดินที่เป็นโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีหลักฐานเช่าหรือเช่าชื้อที่ดินพร้อมทำหนังสือยินยอมของผู้ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อที่ดินนั้น ที่แสดงว่าอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่าได้ ในกรณีเป็นสัญญาเช่าที่ดินต้องมีอายุการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าร่วมโครงการ และต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
  3. ต้องมีสัญชาติไทย
  4. ไม่เคยได้รับการสนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่าตามโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่าหรือโครงการอื่นใดในที่ดินนั้นมาก่อน หรืออยู่ในระหว่างรับเงินสนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่าตามโครงการดังกล่าว

3. หลักเกณฑ์ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ  มีดังนี้

  1. ต้องมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 2 ไร่ขึ้นไป แต่รวมแล้วไม่เกิน 200 ไร่ต่อราย
  2. ต้องปลุกสร้างไม้เศรษฐกิจโดยใช้ชนิดพันธุ์ไม้ ตามบัญชีรายชื่อพันธุ์ไม้ที่อธบดีกรมป่าไม้กำหนด
  3. ต้องปลูกชนิดพันธุ์ไม้ที่ให้การส่งเสริมไม้น้อยกว่า 100 ต้นต่อไร่ ให้กระจายทั่วพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ที่กรมป่าไม้กำหนด

4. หลักเกณฑ์การจ่ายเงิน
การจ่ายเงินทุนสนับสนุนโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ไร่ละ 3,000 บาท แบ่งจ่าย 5 ปี ตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

  1. ปีที่ 1  จ่ายไร่ละ 800 บาท เมื่อพ้นระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่ได้ดำเนินการปลูกแผ้วถางหรือกำจัดวัชพืช และพรวนดินเป็นที่เรียบร้อย
  2. ปีที่ 2  จ่ายไร่ละ 700 บาท เมื่อดำเนินการแผ้วถางหรือกำจัดวัชพืชปลูกซ่อมพรวนดิน และทำแนวกันไฟเป็นที่เรียบร้อย
  3. ปีที่ 3  จ่ายไร่ละ 600 บาท เมื่อดำเนินการแผ้วถางหรือกำจัดวัชพืชปลูกซ่อม และทำแนวกันไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  4. ปีที่ 5  จ่ายไร่ละ 400 บาท เมื่อดำเนินการแผ้วถางหรือกำจัดวัชพืชและทำแนวกันไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การจ่ายเงินตามข้อ 1, 2, 3, 4 และ 5 ต้องปรากฏว่ามีต้นไม้ไม่น้อยกว่าไร่ละ 100 ต้นกระจายทั่วพื้นที่ และต้องบำรุงดูและรักษาอย่างต่อเนื่องให้ต้นไม้มีความเจริญเติบโต

การที่จะได้รับเงินสนับสนุน ต้องปลูกไม้กฤษณาล้วน ๆ ชนิดเดียวให้กระจายทั่วพื้นที่ หรือปลูกผสมไม้เศรษฐกิจอื่น ๆ ตามบัญชีรายชื่อพันธุ์ไม้ที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดกระจายทั่วพื้นที่ เช่น สัก กระถินณรงค์ ยมหอม ยมหิน ขิงชัน แดง ตะเคียนทอง ยางพารา ยูคาลิปตัส ถ้าปลุกผสมไม้ผลเช่น  ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ ขนุน ทุเรียน และอื่น ๆ จะไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุน

ผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่อนายอำเภอท้องที่ที่ดินตั้งอยู่ พร้อมเอกสารหลักฐานดังนี้

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน สิทธิครอบครอง หรือหลักฐานการมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในที่ดิน
  • หลักฐานการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดิน และหนังสือยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ที่แสดงว่าอนุญาตให้เข้าทำสวนป่าได้ในกรณีที่มีการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดิน
  • แผนที่สังเขปที่ตั้งเขตติดต่อและแนวเขตที่ขอขึ้นทะเบียน

ที่มา http://www.yesspathailand.com/สมุนไพรกลิ่นหอมของไทย/พืชน้ำมันหอมระเหย-กฤษณา.html

 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :-
 
  เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :-
บทความที่น่าสนใจ
สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์
340 ลาดพร้าว 112 วังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทร 0-2514-0593 แฟ็กซ์ 0-2538-4215 Email : [email protected]

Warning: include(../../main/globalsitemap.php): failed to open stream: No such file or directory in /home/muslimpo/public_html/business/main/index.php on line 214

Warning: include(): Failed opening '../../main/globalsitemap.php' for inclusion (include_path='.:/usr/lib/php:/usr/local/lib/php') in /home/muslimpo/public_html/business/main/index.php on line 214