ใครคือนักลงทุน.. แฟรนไชส์ (Franchise)!
คนที่ต้องการลงทุนในระบบของธุรกิจแฟรนไชส์นั้น มีข้อแตกต่างกับคนที่ต้องการลงทุนในอาชีพเล็กๆ น้อยๆ อยู่พอสมควร ความที่ระบบแฟรนไชส์กับธุรกิจที่เรียกว่า สร้างอาชีพนั้นเป็นวิธีคิดแตกต่างกัน ทำให้คุณภาพของนักลงทุนไม่เหมือนไปด้วย นักลงทุนที่มองธุรกิจขนาดเล็กลงทุนไม่สูงเน้นเป็นธุรกิจขนาดเล็กเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองไม่ถึงขนาดจะต้องเป็นการตั้งตัวหวังรวย กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มรายได้และความรู้ปานกลาง น่าจะต่างจากอีกกลุ่มที่มีความต้องการสร้างความฝันของตนเองที่จะเป็นนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการ ทั้งๆ ที่มีความรู้อย่างมากพร้อมกับเงินทุนที่พอสมควร แต่การสร้างธุรกิจด้วยตัวเองขึ้นมาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นกลายเป็นปัญหาของระบบธุรกิจที่วันนี้การเริ่มจากไม่มีอะไรเลยเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะประสบความสำเร็จได้
ดังนั้นกลุ่มเหล่านี้เลือกแนวทางที่ง่ายขึ้นกว่า ด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่มธุรกิจที่มีการสร้างการยอมรับในตราสินค้ามาบ้างแล้วและมีความสามารถเพียงพอทีจะเป็นแนวทางให้ตัวเองสามารถสร้างความเป็นเจ้าของกิจการบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันกับทั้งบริษัทแม่และสาขาอื่นในระบบ จากข้อสังเกตเบื้องต้น ทำให้การสำรวจคุณสมบัตินักลงทุนในระบบธุรกิจแฟรนไชส์ตัวจริงพบว่า มีจำนวนไม่มากนัก ลักษณะทั่วไปของกลุ่มนี้มีการศึกษาเฉลี่ยระดับปริญญาตรีและมีอาชีพส่วนใหญ่เป็นพนักงานองค์กรต่างๆ มักเป็นผู้บริหารระดับต้น อายุเฉลี่ยที่ได้จากการสำรวจมีตั้งแต่ 30 จนถึงอายุ 50 ปี ส่วนใหญ่ต้องการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดูแล้วเป็นธุรกิจระยะยาวมากกว่าจะเป็นการเลี้ยงตัวแบบร้านขายของทั่วไป
เนื่องจากกลุ่มนี้มีอาชีพประจำอยู่แล้วและมีรายได้ที่อยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป การลงทุนในธุรกิจจึงต้องการรูปแบบและเน้นการมีส่วนในการจัดการ การบริหารร่วม รวมทั้งมีโอกาสในการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นได้ ปัญหาที่พบกับนักลงทุนกลุ่มนี้ก็คือ พวกเขาต้องการการลงทุนที่ต้องเป็นไปในรูปแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์จึงต้องมีงบประมาณการลงทุนสูง และเงินทุนที่สะสมไว้ไม่พอสำหรับการลงทุนทั้งหมด กลุ่มดังกล่าวนี้จึงต้องอาศัยการลงทุนด้วยการระดมเงินทุนจากคนใกล้ชิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับในช่วงเศรษฐกิจบางช่วง การที่สถาบันการเงินเข้ามามีส่วนรองรับความต้องการด้านนี้จึงกลายเป็นปัจจัยที่จะช่วยเสริมการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ไปด้วย
การคาดการณ์จำนวนของนักลงทุนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ไม่ว่าจะเรื่องของอายุและแนวโน้มลักษณะการลงทุนในระบบนี้ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีเงินสะสมพร้อมลงทุนที่มีวงเงินประมาณ หกแสนถึง แปดแสนบาทต่อราย ซึ่งนักลงทุนระดับนี้จะมีไม่น้อยกว่า 300,000 คน ซึ่งเป็นคนที่พร้อมจะลงทุนในระบบแฟรนไชส์ไม่เกิน 20% ของทั้งหมด หมายความว่าจำนวนเป้าหมายของนักลงทุนในระบบแฟรนไชส์ในช่วงการพัฒนาในประเทศเราขณะนี้น่าจะมี จำนวนนักลงทุนประมาณ 60,000 ราย และแน่นอนเมื่อรูปแบบการลงทุนของธุรกิจแฟรนไชส์มีมากขึ้น ความหลากหลายในรูปแบบธุรกิจ การจัดการที่พัฒนาขึ้น รวมถึงการให้สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น กลุ่มที่เป็นจำนวนเป้าหมายการขยายสาขาแฟรนไชส์ก็จะเพิ่มขึ้นทันที ความเป็นไปได้ของระบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะพัฒนาการลงทุนที่เหมาะสม จะต้องมุ่งเน้นเรื่องของความคุ้มค่าต่อการลงทุน การสร้างระบบการจัดการบริหารที่ให้โอกาสแฟรนไชส์ซีได้ใช้ความสามารถด้วย ในขณะที่มีการบริหารงาน บริหารเงินตราและการพัฒนาสินค้าบริการที่แตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อวิเคราะห์ถึงการลงทุนที่กลุ่มนี้สนใจจะต้องเป็นธุรกิจที่ใช้เงินเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้นการให้ระยะสัญญาจึงต้องออกแบบให้ยาวมากพอที่ทั้งได้รับการคืนเงินทุนและกำไรที่เหมาสมได้จริง
ถ้าวิเคราะห์ตามข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าความต้องการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีไม่น้อยเพียงแต่แฟรนไชส์ซอร์ที่ต้องออกแบบธุรกิจให้ได้ตามที่นักลงทุนคาดหวังต่างหากที่มีน้อยเกินไป ส่วนจำนวนธุรกิจที่มีอยู่มากมายนั้นกลับเป็นธุรกิจที่เหมาะกับอีกกลุ่มและไม่ได้เป็นออกแบบสนับสนุนจนเป็นระบบธุรกิจที่จะยั่งยืน จนถึงประเภทที่ไม่ใช่ธุรกิจแฟรนไชส์ด้วยซ้ำ การลงทุนแฟรนไชส์ในบ้านเราทุกวันนี้ ก็เลยกลายเป็นแบบตาดีได้ ตาร้ายเสีย ใครเลือกผิดก็คิดจนตัวตาย หรือหาดีทำยายาก ก็ได้แต่หวังว่าสักวันกระบวนการทั้งหมดก็จะเปลี่ยนสร้างให้ระบบแฟรนไชส์นั้เป็นเรื่องจริงที่ช่วยคนลงทุน เดินดินกินข้าวแกงอย่างเราๆ ท่านๆ กันบ้างสักที.. ที่มา http://www.yesspathailand.com/องค์ความรู้พื้นฐานของธุรกิจแฟรนไชส์/ใครคือนักลงทุนแฟรนไชส์.html |