สวัสดีครับผู้ประกอบการ เห็นจั่วหัวอย่างนี้อย่าเข้าใจว่าผมจะพาไปสู่โลกแฟชั่น หรือบันเทิงนะครับ ที่พักหลังนี้เห็นการนำคอลเล็คชั่นเก่า ๆ หรืออัลบั้มเพลงเก่า รวมถึงหนังเก่ามาทำใหม่นะครับ แต่คงต้องยอมรับกันล่ะครับว่ากระแสย้อนยุค ณ วันนี้มีอยู่ทั่วทุกวงการกันเลยทีเดียว โดยเริ่มแรกกับพวกอุตสาหกรรมแฟชั่น (ซึ่งรวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ โดยเฉพาะนาฬิกา) ซึ่งในตอนแรก ๆ เข้าใจไปเองว่าคงเป็นกระแสเฉพาะวงการที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่า เรื่องของแฟชั่น หรือ การดีไซน์จะมีวงจรในการนำของเก่ากลับมาตีความใหม่ตามยุคตามสมัย แต่ไม่เคยคิดว่าจะลามไปถึงวงการอื่นด้วย
เมื่อช่วงเดือนก่อน ได้มีโอกาสอ่านบทความในนิตยสาร Monocle (ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนเชิงไลฟ์สไตล์อันทรงอิทธิพลของอังกฤษ และโด่งดังไปทั่วโลกอยู่ในตอนนี้) บทความในนั้นได้มีการเอ่ยถึงธุรกิจขนาดเล็ก (อันนี้ผมเดาเอาเอง โดยดูจากลักษณะของธุรกิจ และมีพนักงานไม่เกิน 10 คน) บางอย่างที่เขายกย่องให้เป็นตัวอย่างของ Local Hero คือ มีลักษณะผูกติดกับชุมชน และมีลักษณะในการสร้างชุมชนเล็ก ๆ ของคนที่มีความชอบเหมือน ๆ กัน พอเดาออกมั้ยครับว่าเขายกย่องธุรกิจอะไรบ้าง……
ผมคิดว่าถ้าปล่อยให้เดาคงเดากันไม่ถูกหรอกครับ ธุรกิจที่เขาเชิดชูขึ้นมามีตั้งแต่ ร้านขายแผ่นเสียง (เน้นครับว่าแผ่นเสียง!) ร้านหนังสือที่ไม่ใช่เชน ( หมายถึงสาขาของร้านหนังสือของบริษัทขนาดใหญ่ ) โดยมีรายหนึ่งเป็นรถบรรทุกที่ตระเวนพาร้านหนังสือเคลื่อนที่นี้ไปตามชุมชนต่าง ๆ และที่สำคัญคือแผงขายหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนานะครับ มีทั้งในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และที่สำคัญมีจากไทยเราด้วยหนึ่งแห่ง คือ ร้านขายแผ่นเสียงที่ทองหล่อ
ผมอ่านดูก็มาคิดต่อว่าทำไมนิตยสารเล่มนี้ที่ทรงอิทธิพลมากในเชิงการกำหนดเทรนด์ไลฟ์สไตล์ถึงได้เชิดชูธุรกิจที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะอยู่รอดในยุคดิจิตัล ซึ่งคนดาวน์โหลดเพลง หนังสือ นิตยสาร และอ่าน หรือ ฟังกันบน Smart Phone หรือ Tablet กันหมดแล้ว หลังจากพินิจพิเคราะห์อยู่สักพัก ผมก็ได้ข้อสรุปว่าธุรกิจที่เขาเชิดชูนั้นมีลักษณะร่วมกันพอสมควร ดังนี้ครับ
1. ทุกธุรกิจมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ กล่าวคือไม่ได้เน้นสินค้าที่เป็นกระแสหลัก หรือยอดนิยม แต่มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ครอบคลุมกับความสนใจของลูกค้า อันนี้เป็นจุดเด่นเลยนะครับ เพราะถ้าเราไปร้านหนังสือ หรือ ร้านขาย CD ต่าง ๆ จะสังเกตได้ว่ามีแต่พวก Bestseller เท่านั้น มีน้อยแห่งมากที่จะมีความหลากหลาย แต่ให้ถึงแม้เป็นเจ้าใหญ่ที่มีความเป็นเชนก็หนีไม่พ้นเน้นสินค้ากระแสหลักอยู่ดี แผงนิตยสารที่อิตาลีมีนิตยสารจากทุกมุมโลกให้เลือกเป็นพันเล่มนะครับ
2. ความรู้จริงในผลิตภัณฑ์ของเจ้าของร้าน อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ชัดมาก เพราะเจ้าของร้านทุกคนมีความรักและมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ จนสามารถที่จะแนะนำให้ลูกค้าได้ว่าหากชอบเพลงหรือหนังสือสไตล์ไหน เพลงหรือหนังสือเล่มไหนที่ลูกค้าน่าจะชอบ อันนี้มากกว่าที่แนะนำตาม Amazon นะครับที่ดูจากสถิติของคนที่มาซื้อ
3. รู้จักลูกค้าประจำทุกคนและมีความสัมพันธ์กันอย่างดีกับลูกค้าถึงขนาดเรียกชื่อลูกค้าได้ และรู้ซึ้งถึงความชอบของลูกค้าด้วย มากกว่านั้นดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ลูกค้าแวะมาทักทายและพูดคุยเป็นประจำ เป็นเสมือนบ้านของเพื่อนหรือคนรู้จักที่จะต้องมาแวะเยี่ยมเยียนเมื่อมีโอกาส และเลือกหาสินค้ากลับบ้านไป จนบางครั้งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของคนในพื้นที่แถบนั้นไปเลย
ซึ่งหากพิจารณาจากร้านค้าทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันโดยเฉพาะพวกเชน หรือ ห้างสรรพสินค้าจะขาดปัจจัยข้างต้นทั้งสิ้น เมื่อไม่มีปัจจัยพวกนี้ สิ่งที่ผู้บริโภคมองหาก็คือ สินค้าที่สามารถหาได้ทั่ว ๆ ไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะต้องแข่งกันด้วยราคา ไม่มีป้ายลดราคาไม่ซื้อ เพราะเนื่องจากผู้บริโภคต้องทำการบ้านเองมาหมดแล้ว นั่นก็คือ ราคาและความสะดวกในขั้นตอนการซื้อเท่านั้น
จุดมุ่งหมายที่นำเรื่องนี้มาแชร์กับท่านผู้ประกอบการทั้งหลาย ก็หวังว่า จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการ เอาไปใช้เป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของท่านให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่นับวันมีแนวโน้มถวิลหาร้านค้าแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งนับวันจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคดิจิตัลนี้ ผมเป็นคนนึงล่ะครับที่มักจะอุดหนุนร้านค้าเหล่านี้หากได้มีโอกาสพบเจอ และหลายครั้งกลายเป็นลูกค้าประจำ และเพื่อนกับเจ้าของร้านไป หวังว่าจะได้เป็นเพื่อนกับท่านผู้อื่นบางท่านในอนาคตนะครับ ที่มา http://www.tmbbank.com/business/sme/advertorial/detail.php?id=28 |