หากตั้งคำถามว่า สตีฟ จ็อบส์ นั้นเป็นที่ชื่นชมของคนส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลอะไร หรือว่าสตีฟ จ็อบส์ มีชื่อเสียงเพราะอะไร ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะต้องตอบว่า เนื่องจาก สตีฟ จ็อบส์ เป็นอัจฉริยะผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่ตลาด Consumer Electronics หรือสินค้าไฮเทคต่าง ๆ แต่หากให้ลองขบคิดเพิ่มเติมว่า แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้ สตีฟ จ็อบส์ ประสบความสำเร็จในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อันเป็นที่ติดอกติดใจแก่สาวก Apple ทั้งขาประจำหรือขาจร ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะนึกถึงประเด็นที่ผมกำลังจะกล่าวถึง และขอยกเป็นประเด็นให้ท่านผู้ประกอบการนำไปขบคิดกันครับ
ในมุมมองของผมนอกจากความสามารถของสตีฟ จ็อบส์ที่รังสรรค์ประสบการณ์ชั้นเลิศให้บังเกิดแก่ผู้บริโภคจากการใช้ผลิตภัณฑ์ Apple แล้ว ความสามารถอีกด้านนึงที่โดดเด่น และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรือในหลาย ๆ ครั้งอาจมีความสำคัญมากกว่าเสียด้วยซ้ำ และผมคิดว่าเป็นคุณสมบัติที่ผู้บริหารทุกท่าน หรือผู้ประกอบการทุกคนจะต้องมี หากคิดที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา นั่นคือ ความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นตามแนวคิดที่ได้วางไว้ โดยไม่ยอมลดละเป้าหมาย หรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะต้องท้าทาย หรือ ต่อสู้กับแรงต้านต่าง ๆ
ผมเชื่อว่าท่านผู้ประกอบการทุกคนต้องมีอย่างน้อยสักครั้งที่ประสบเหตุการณ์ที่มีไอเดียหรือแนวคิดที่ดี แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแนวคิดที่ดีนั้นเป็นสินค้า หรือบริการที่จับต้องได้ หรือหากทำได้ แต่ผลลัพธ์กลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากแนวคิดแรกที่ดูดีมีความหวัง สุดท้ายกลับได้สิ่งที่ธรรมดา ๆ ดาด ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ คิด 100 แต่สุดท้ายทำได้แค่ 50 นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อมีความคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ ที่เชื่อว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ (ซึ่งการจะได้ไอเดียดี ๆ นั้นก็ยากแล้ว) แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ การแปรเปลี่ยนไอเดียดี ๆ เป็นสินค้าหรือบริการที่จับต้องได้ ทั้งนี้เนื่องจากการสร้างความแตกต่างนั้น หลาย ๆ ครั้งเราต้องกล้าที่จะท้าทายกับความคิด หรือความเชื่อเดิม ๆ สิ่งที่ยากขึ้นไปอีกในฐานะผู้นำขององค์กร ก็คือจะทำอย่างไรให้บุคคลากรในองค์กรของเรามีความเชื่อมั่นในแนวคิด และท้าทายความเชื่อเดิม ๆ และพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อที่จะทำลายความเชื่อนั้น ๆ ให้สำเร็จ สตีฟ จ็อบส์ ได้พิสูจน์แล้วตลอดชีวิตการทำงานของเขาว่า สิ่งที่เขามีดีไม่แพ้วิสัยทัศน์ในการมองทิศทางตลาด ก็คือ ความมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละ เพื่อที่จะพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถึงแม้เป้าหมายหรือมาตรฐานที่ต้องการนั้นจะสูงเพียงใด ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งดูสูงจนเกินเอื้อม และดูไม่มีเหตุผลในบางครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่
- · การกำหนดว่าคอมพิวเตอร์ Notebook ของ Apple จะต้องไม่มีพัดลมระบายอากาศ และจะต้องมีแบตเตอรี่ที่มีพลังงานสำรองที่มากกว่า (ทั้ง ๆ ที่ Notebook ทุกเครื่องในตลาดมีพัดลมระบายอากาศหมด)
- · การดีไซน์ iPod ให้ไม่มีปุ่มปิดเปิด และกำหนดการทำงานโดยใช้ปุ่มบังคับเดียว
- · การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของสินค้าแต่ละตัว โดยไม่พยายามเป็นสินค้าที่ทำได้หลายอย่างจนเกินไป ได้แก่ iPod สามารถเล่นเพลงได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้
ตัวอย่างข้างต้นเป็นแค่เพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเพื่อแสดงให้เห็นว่า สตีฟ จ็อบส์ตั้งโจทย์ที่หินให้แก่ทีมงานโดยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวเองแตกต่างจากคู่แข่งหากทำได้ดี แต่จะเห็นว่าโจทย์ที่ให้แก่ทีมงานนั้น ทุก ๆ ครั้งเป็นการท้าทายความคิด หรือความเชื่อเดิม ๆ ของตลาด และในหลาย ๆ ครั้งผมเชื่อว่าเป็นการท้าทายความคิดเดิม ๆ ของทีมงานของ สตีฟ จ็อบส์ เอง หากสตีฟ จ็อบส์ ไม่มีความมุ่งมั่นที่แรงกล้าในการที่จะผลักดันทีมงานให้ท้าทายสิ่งต่าง ๆ หรือหาก สตีฟ จ็อบส์ ลดระดับของมาตรฐานลง เราคงไม่ได้ผลิตภัณฑ์ดี ๆ มาใช้จนถึงทุกวันนี้ เพราะกว่าจะได้มานั้นต้องผ่านการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะได้สิ่งที่พอใจ ซึ่งผมเชื่อว่าทีมงานของ สตีฟ จ็อบส์ คงไม่ได้มีความสุขมากนักในช่วงเวลานั้น แต่ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย เมื่อผ่านมาได้ และเห็นผลงานของตัวเองประสบความสำเร็จ คงดีใจที่ทุ่มเทกัดฟันฝ่าฟันเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า
มีปราชญ์ท่านนึงเคยกล่าวไว้ว่า “ความแตกต่างระหว่างผู้ที่ประสบความสำเร็จ กับ ผู้ล้มเหลว ก็คือ ผู้ล้มเหลวมักจะยอมแพ้ หรือ ยอมจำนนเร็วเกินไป” ที่มา http://www.tmbbank.com/business/sme/advertorial/detail.php?id=24 |