การขอสินเชื่อของ SME กับธนาคารแต่ไหนแต่ไรมา จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในรูปแบบของ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เงินสด หลายๆ กรณีมูลค่าของหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันนั้นมากกว่าวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารอนุมัติให้กับ SME เหล่านั้นเสียอีก
การขอสินเชื่อรูปแบบนี้ อาจทำได้ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจของ SME โดยสินเชื่อที่เป็นเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดเวลา จะถูกนำมาใช้เพื่อก่อสร้างโรงงาน ซื้อที่ดิน หรือ เพื่อทำธุรกิจ รวมทั้งอาจมี สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เล็กๆ น้อยๆ ในช่วงก่อตั้ง
ปัญหาจะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อธุรกิจ SME เหล่านี้เริ่มมีการเจริญเติบโต มีโอกาสทางการค้ามากขึ้น มี คำสั่งซื้อสินค้า เข้ามามากขึ้น ทำให้ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ ดังนั้น ธุรกิจ SME หลายๆ ราย จึงไม่สามารถฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจได้ทันท่วงที ผู้ประกอบการ SME บางคนต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ด้วยเหตุของสายป่านเงินทุนที่ไม่เพียงพอนี้ ธุรกิจ SME ในประเทศไทย จึงมีการเติบโตที่จำกัด บางธุรกิจถึงกับปิดกิจการไปก็มี
การที่ธุรกิจ SME ไม่สามารถเติบโตได้ นั้น ย่อมส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย เพราะว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ SME มีจำนวนกว่า 2.82 ล้านรายในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 8.9 ล้านคน ธุรกิจ SME เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งในปี 2009 ธุรกิจ SME เป็นสัดส่วน 38% ของ GDP ของประเทศไทย ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วน GDP ของ SME ถึง 50-60% หน่วยงานของรัฐบาลหลายๆ หน่วยงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ SME รวมถึงปัญหาและอุปสรรคของการที่ SME มีหลักประกันไม่เพียงพอ จึงได้ออกมาตรการช่วยหลือหลายประการ มาตรการที่ประสบความสำเร็จสูงมากคือ การออกมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ (Portfolio Guarantee Scheme) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.
โครงการนี้เป็นโครงการที่ บสย.เข้าไปค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ SME ขาดหลักประกัน โดยวงเงินสินเชื่อที่ลูกค้าได้รับ ลูกค้าสามารถนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันกับธนาคารเพียง 30% ของวงเงินสินเชื่อ ก็สามารถได้รับสินเชื่อตามที่ต้องการ ส่วนที่ขาดหลักประกัน 70% นั้น ได้ใช้ บสย. เข้าไปค้ำประกันแทน ซึ่งสามารถขอให้ บสย. ค้ำประกันได้สูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย
โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยมีธนาคารพาณิชย์หลายๆ ธนาคาร เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรวมถึง TMB ด้วย ทั้งนี้วงเงินค้ำประกันทั้งหมดภายใต้โครงการทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาทนั้น บสย. สามารถค้ำประกันลูกค้า SME ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอทั้งสิ้น 17,625 ราย และก่อให้เกิดการปล่อยสินเชื่อทั้งสิ้น 112,167 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. เป็นเพียงหนึ่งในหลายความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อยู่รอดได้ และยังคงมีอีกหลายรูปแบบที่ TMB กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุน SME ซึ่งผมจะค่อยๆอธิบายให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไป แล้วพบกันครั้งหน้าในฉบับวันที่ 17 มีนาคม ครับ
Smart SME
ที่มา http://www.tmbbank.com/business/sme/advertorial/detail.php?id=1